วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตอนที่ 2

                ตอนที่แล้ว ครูถามนักเรียนไปถึงพฤติกรรมในการเรียนของแต่ละคน
ได้คำตอบเป็นอย่างไรกันบ้างคะ ? จัดหมวดหมู่ให้ตัวเองอย่างไร พอใจหรือไม่
และมีข้อควรปรับปรุงส่วนไหนบ้างที่จะทำให้การเรียนของเราดีขึ้น ?
                มาวันนี้ เราจะคุยกันเรื่องที่ว่าการจะเรียนเก่งอย่างมีความสุข หรือ
การเรียนเหมือนเล่นๆ หรือเล่นปนเรียนนั้น ควรจะมีวิธีการที่เหมาะสมอย่างไร
เรียนแค่ไหน เล่นแค่ไหน จึงจะไปได้ดีทั้งสองอย่างค่ะ
                สมัยเรียนมัธยมฯ ช่วงก่อนจะสอบแอดมิสชัน (Admission'49)
ครูเชื่อว่าทุกคนคงจะเคยเป็นเหมือนกัน นั่นคือ อาการลนลานว่าจะอ่านหนังสือไม่ทัน
ก็ตั้งกี่วิชาล่ะคะที่ต้องอ่าน ไทย อังกฤษ สังคม ฝรั่งเศส วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
ดูเหมือนเล็กน้อย แต่พอเอาเข้าจริงก็เหนื่อยใช่เล่น เรียนพิเศษเลิกดึก การบ้าน
การโรงเรียน กีฬาสี งานชมรม ฯลฯ นี่แค่เฉพาะงานที่เป็นสาระนะคะ
แล้วสารพัดภารกิจที่ไม่เป็นสาระอีกล่ะ เป็นต้นว่า ดูหนัง เที่ยวกับเพื่อน ติดเฟส ออนเอ็ม
กินน้ำชามื้อดึก (วัยรุ่นหาดใหญ่ นิยมนั่งร้านน้ำชากลางคืน)
สิ่งเหล่านี้กินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปมากทีเดียวค่ะ
เพื่อนที่ติดธรรมศาสตร์ (ศิลปศาสตร์,นิติ,สังคมฯ) หรือ จุฬาฯ (อักษรฯ,นิติฯ,ครุฯ) หรือ
ศิลปากร (โบราณ,อักษร,ศึกษา,จิตรกรรม) สงขลานครินทร์ (ศิลปศาสตร์,นิติ,วิทยาการจัดการ)
ก็ล้วนแต่มีวิถีชีวิตไม่ต่างกับที่ครูเป็น

แต่ครูและเพื่อนก็เรียนๆเล่นๆ จนกระทั่งแอดมิสชั่นติด แม้จะไม่ใช่ความสำเร็จขั้นสูงสุดของชีวิต
แต่ก็เป็นหลักประกันหนึ่งที่บอกครูได้ว่า เราจะเรียนให้ได้ดีนั้น
ไม่จำเป็นต้องหน้าดำคร่ำเครียดตลอดเวลา ทำทุกอย่างอย่างพอดี
เพราะชีวิตมีอะไรมากกว่านั้นจ้ะ


                อย่างแรกเลยค่ะต้องรู้จักวางแผนค่ะ วางแผนยังไงในทีนี้หมายถึง
การกำหนดเป้าหมายว่าที่เราไปเรียนอยู่ทุกวันนี้ เพื่ออะไร เราต้องการอะไร
อยากให้มีอะไรงอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลจากความอุตสาหะบ้าง
และสิ่งใดที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจได้ โดยแผนนี้ทั่วไปจะมี 3 ระดับคือ
แผนระยะสั้น , แผนระยะกลางและแผนระยะยาวค่ะ ความละเอียดของแผนแต่ละระยะเวลาก็จะต่างกัน
เช่นแผนระยะสั้น ย่อมจะเป็นเรื่องของวันนี้พรุ่งนี้และสัปดาห์นี้
แผนระยะกลางเป็นการกำหนดอนาคตในอีกเดือนสองเดือนหรือหนึ่งภาคเรียนข้างหน้า

ในขณะที่แผนระยะยาวจะเป็นเรื่องของอนาคตพอๆกันกับคำถามที่ว่า โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร นั่นล่ะค่ะ

โดยแผนจะต้องกำหนดช่วงเวลาลงไปให้ชัดเจนเลยค่ะว่า วันไหน เดือนไหน ปีไหน ทำอะไร ยกตัวอย่างให้เห็นชัด เช่น

                แผนระยะสั้น : ทำการบ้านหน้าสิบห้าวิชาสังคม, เขียนเรียงความ, อ่านวิชาอักษรอีสาน , ทำการบ้านหน้า 29 (1-7 พฤศจิกายน)
                แผนระยะกลาง : อ่านหนังสือสอบเอนท์ , สอบปลายภาค , Toefl (ธันวา 53-กุมภา 54)
                แผนระยะยาว : ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแอร์โฮสเตส , ทุนสังคมวิทยา (2554-2556)



                ต่อมาการจะเรียนให้ได้ดีและมีความสุขนั้น ต้องรู้จักการแบ่งเวลาค่ะ การจัดการเวลาที่ดีทำให้เรารู้ว่าสิ่งใดจำเป็น มากน้อยเพียงใด สิ่งใดควรทำก่อนทำหลัง กระจายให้แต่ละภารกิจมีน้ำหนักที่เหมาะสมกันในแต่ละช่วงเวลา เช่น วันนึงมี 24 ชม. ไปโรงเรียนใช้เวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กชมรมแบบครู อาจกินเวลาถึง 12 ชั่วโมง ) เรียนพิเศษ 2-3 ชั่วโมง ทำการบ้าน 2 ชั่วโมง
(บวกเวลาเล่นเน็ตไปด้วย) ทบทวนสิ่งที่เรียนไป 1-2 ชั่วโมง อ่านหนังสือเตรียมสอบระยะยาว 2-4 ชั่วโมง ที่เหลือก็เป็นเวลาพักผ่อน
                 ส่วนวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็พักผ่อนไปเถอะค่ะ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือที่ชอบ ซักผ้า ออกต่างจังหวัด อะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข นัยว่าเป็นการเติมพลังให้ในอีกทั้งสัปดาห์

แต่ในช่วงหลังเที่ยงวันอาทิตย์ เราควรจะทำสมาธิถึงสิ่งที่จะต้องทำในเช้าวันจันทร์ และอ่านหนังสือทบทวนภาพรวมที่เรียนไปของสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งเปิดผ่านๆสำหรับสิ่งที่จะเรียนในสัปดาห์ที่จะถึงด้วยค่ะ


            สามคือ ลงมือทำ ค่ะ เป็นขั้นตอนสั้นๆที่สำคัญที่สุดเลยนะคะ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง และให้เชื่อไว้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรหรอกค่ะที่คนเราจะทำไม่ได้
หากเราคิด เชื่อมั่น ตั้งใจและ "ลงมือทำ" ค่ะ


เพียงเท่านี้,ชีวิตการเรียนของเราก็จะดูมี "อะไรๆ" มากขึ้น ไม่ใช่เด็กเรียนแว่นหนาเตอะ แล้วก็ไม่ใช่แว๊นจนไม่ลืมหูลืมตานะจ๊ะ :-)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น