วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาช่วยพัฒนาชาติในเรื่องของคนชนบทอย่างไร ?


การศึกษาคือทางออกของยุคสมัยที่คนไม่รู้และต้องการแสวงหาความรู้และความจริงที่เป็นไปในลักษณะของความรู้แห่งชีวิตหรือการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิต  ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่ส่งผลต่อการพัฒนาคน พัฒนาความคิด พัฒนาประเทศ  โดยการพัฒนาที่เกิดจากผลพวงของการศึกษาก็ปรากฏทั้งรูปธรรมเช่นความเจริญทางวัตถุและนามธรรมหรือระบบความคิด ค่านิยม เนื่องจากการศึกษามีหน้าที่ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ และเชิงอนุรักษ์ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยที่ต้องอาศัยการมองย้อนอดีตและเดินสู่อนาคตอย่างสมดุล จึงจะเป็นการพัฒนาที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
คนชนบท ความเป็นชนบท คือ กลุ่มประชากรซึ่งมีความเป็นอยู่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม และวิถีชีวิตเป็นไปตามจารีต ขนบประเพณี ยึดมั่นในความดีงาม และกระบวนทัศน์แบบองค์รวมคือวิธีการมองโลก มองชีวิต ทำให้คนชนบทและความเป็นชนบท ำเนินชีวิต แปลกแยกจากประชากรส่วนน้อยแต่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับประเทศซึ่งอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งการพัฒนาตามอย่างตะวันตกและทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับอเมริกันสแตนดาร์ด  อีกทั้งความทันสมัยในเมืองใหญ่ได้อ้าแขนกวาดต้อนผู้คนจากชนบทให้อพยพเข้าสู่เมืองหลวง อีกทั้งความเป็นคนชนบท ก็ง่ายต่อการยัดเยียดระบบบริโภคนิยมที่แทนค่าความสุข ด้วยเงินตรา  ซึ่งต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด เกิดจากความไม่รู้ เนื่องด้วยการศึกษาที่ขาดความเท่าเทียม  และถูกกีดกันจากสังคมหลักให้กลายเป็นอีกชนชั้นที่เป็นผู้ถูกกระทำในทุกด้าน
ข้าพเจ้าต้องการกล่าวถึงอีกแง่มุมของการพัฒนาที่เกิดจากการศึกษา เนื่องจากผลดีของการพัฒนานั้น ประเทศนี้ได้กล่าวถึงมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ ถือกำเนิดขึ้น แต่แท้จริงภายใต้ภาพความเจริญที่ถูกสร้างให้เป็นนั้นกลับทำให้รากแห่งอารยะบางอย่างของสังคมไทยค่อยๆจางหายไปเช่นปรากฏในปัจจุบัน จริงอยู่ที่การศึกษานำมาซึ่งความเจริญ รวมทั้งวิทยาการต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากผลพวงของการศึกษา ที่ย่นย่อโลกให้มีขนาดเสมือนเล็กลง และง่ายต่อการติดต่อสื่อสาร ทำให้เทคโนโลยีในอีกซีกโลกสามารถก้าวข้ามระยะห่างและมาเป็นสิ่งใหม่ๆในอีกซีกโลกหนึ่งได้โดยไม่ยากนัก  ความเจริญจากเมืองสู่ชนบท จากตะวันตกสู่ตะวันออก คือประเด็นแรกที่เกิดจากการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น การทำเกษตรกรรมในชนบท ในอดีตนั้นเกษตรกรดำเนินวิถีโดยรอยทางแห่งบุพกาล ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง แต่หลังจากที่การศึกษาเข้ามาพร้อมกับวิทยาการที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำเกษตรกรรม ชาวชนบทก็เริ่มยอมรับวิทยาการดังกล่าว  ซึ่งเป็นผลดีในแง่ของความทันสมัย ทุ่นแรง ทุ่นเวลา แต่นัยจริงแล้วข้าพเจ้าไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการมาถึงของนานานวัตกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งเหมาะควรหรือผิดพลาดต่ออดีตอันทรงคุณค่าหรือไม่  โดยผลเสียที่เกิดจากวิทยาการปรากฏอย่างชัดเจนในสังคมเกษตรกรรมทุนนิยมปัจจุบัน คือ การแห่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ต้องอาศัยยาฆ่าแมลงนานาชนิด สร้างหนี้ซ้ำซ้อน ผ่อนหนี้ กู้หนี้ เพื่อสร้างไร่เรือกสวน ผลผลิตที่ได้ก็ขายเพื่อใช้หนี้ ไม่เหลือเงินทุนจะลงต่อในปีถัดไป จึงต้องกู้ยืม เป็นวัฎจักรไม่มีที่สิ้นสุด รายได้ต่ำกว่าระดับมวลรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ สุขภาพจิตเสีย ครอบครัวเกิดปัญหา คุณภาพชีวิตย่ำแย่  - เหล่านี้คืออีกด้านที่เป็นผลกระทบของการพัฒนา
ทว่าความคาดหวังที่เกิดจากการพัฒนาโดยการศึกษา คือ มิติทางสังคม การเมืองการปกครอง ทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และมิติอื่นๆ ที่เป็นความทันสมัย แต่มิใช่การพัฒนาและตามมาด้วยคำถามที่ว่าแท้จริงการพัฒนาคือการต่อต้านการพัฒนาหรือไม่ ? แต่หากกำหนดเรียกความทันสมัยและเจริญด้วยวิทยาการต่างๆว่าการพัฒนา - ย่อมกล่าวได้ว่าชนบทไทยกำลังพัฒนาและหรือ/อาจจะพัฒนาแล้ว
การศึกษานำมาซึ่งความรู้เท่าทัน ข้าพเจ้ามองว่าการรู้เท่าทันเป็นวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญที่ควรเกิดขึ้นกับปลายทางของการศึกษา  คนชนบทควรได้รับการศึกษาในรูปแบบโยนิโสมมนสิการ  คือ  เน้นการคิดวิเคราะห์ แยกแยก สังเคราะห์ ประเมินค่า มิใช่เป็นการรับข้อมูลเพียงถ่ายเดียวซึ่งก่อให้เกิดการยัดเยียดทางความคิด เช่น กรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดงในปัจจุบัน ชาวชนบทแทบทั้งสิ้นที่ถูกอำนาจความคิดบางอย่างฝังหัวว่าไปสิ ไป เรียกร้องประชาธิปไตยของตนคืนมา ทั้งที่ในความเป็นจริง ชาวชนบทเหล่านั้นไม่อาจบอกได้ว่า อะไรคือประชาธิปไตย ประชาธิปไตยของเสื้อแดงที่ปรากฏคือการที่อดีตนายกทักษิณได้กลับคืนสู่ผืนดินแม่ แต่ในความเป็นจริงประชาธิปไตยมีความหมายและพลังในคำมากกว่านั้น มากกว่าที่จะต้องรองรับใครเพียงคนเดียว แต่เป็นอำนาจรวมของคนทั้งชาติที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันและรู้จักคิด วิเคราะห์ ประเมินค่าในสิ่งที่ถูกต้องด้วยวิจารณญาณของความเป็นมนุษย์คิดเป็นและข้อมูลที่อิงแนบด้วยกฎหมายและสามัญสำนึก มิใช่การกรอกหูให้เชื่อและก็เชื่อ - ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นความล้มเหลวทางการศึกษาในมิติทางด้านสังคมและการเมือง  ในทางกลับกัน หากการศึกษาสามารถนำมาซึ่งความรู้เท่าทันได้นั้น ผู้คนในชนบทก็จะมีแนวคิดที่เกิดจากการสร้างองค์ความรู้ของตนเอง และพิจารณาจากบริบทแวดล้อม ความถูกต้องต่างๆ และก็จะไม่เป็นไปตามบางคำกล่าวที่ว่า โง่ จน เจ็บ อีกต่อไป
การพัฒนาที่เกิดจากการศึกษาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนชนบทหากมองในแง่เศรษฐกิจก็เสมือนเป็นผลดี แต่ถ้าหากมองในเรื่องคุณภาพชีวิต ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเรากำลังเดินสู่หุบเหวอันไร้ก้นหรือไม่ ?
ดังนั้นในทัศนะของข้าพเจ้ามองการพัฒนาชนบท เป็นประเด็นของการนำการศึกษามาเป็นเครื่องมือปลุกให้คนชนบทให้ตื่นฟื้นจากความหลงในวาทกรรมแห่งการพัฒนาจากคนเมือง โดยการพัฒนาควรเน้นที่ความต้องการขั้นพื้นฐาน และกระจายรายได้ที่ควบคู่ไปกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่สามารถรองรับความต้องการตามความจำเป็น ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับการพัฒนาในยุคปัจจุบัน
ในปลีกย่อยอื่นๆของวิถีชีวิตชนบทที่เกิดจากการพัฒนา โดยรูปแบบภายนอกก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการเป็นคนเมือง เลือกที่จะบริโภคและอุปโภคเช่นคนเมือง เข้าห้างสรรพสินค้าแทนที่จะทำความรู้จักผักหญ้าหลังบ้าน และแปรรูปเป็นอาหารสดด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ภาพลักษณ์ของชาวชนบทดูมีระดับความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น แต่เช่นกันที่ความสะดวกสบายเหล่านี้ทำให้คุณค่าแท้ที่เกิดจากความผูกพันของคน ของธรรมชาติลดน้อยลง แทนค่าความสุขด้วยสัญญะแห่งการบริโภคที่โฆษณากระพือโหมและยัดเยียดให้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น ความกตัญญูถูกแทนด้วยนมตราหมีหรือแบรนด์ซุปไก่,รังนก และความสนุกสนาน มิตรภาพ แทนด้วยบรั่นดี ส่วนความมั่งคั่งแทนด้วยบ้านเครือพร็อพเพอร์ตี้โฮม รสนิยมสูงมาพร้อมกับผ้าพันคอเฮอร์เมส  ฯลฯ อาจไม่เหมือนหรือคล้ายในรายละเอียดแบรนด์เนม แต่โดยวิธีคิด อาจใช่ - หรือนี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนชนบทซึ่งมีอิทธิพลมาจากการพัฒนาอีกทางหนึ่ง ?
ท้ายที่สุดแล้ว ชนบทหลงเหลือสิ่งใดที่เกิดจากการพัฒนาเนื่องด้วยผลพวงจากการศึกษา นอกจากอาคารบ้านเรือนก่ออิฐถือปูน พฤติกรรมการบริโภคนิยม แนวคิดที่แทนค่าเงินเป็นความสำเร็จ ดังนั้น, เรา-องค์ประกอหนึ่งของชนบทและเสี้ยวความเป็นเมืองจำต้องมีภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันการพัฒนา เพื่อก้าวพร้อมและ - ทำความเข้าใจอดีตให้เป็นคุณค่าชีวิตที่เกิดจากการพัฒนาอย่างมีเหตุผล และพอประมาณ จึงจะไม่สร้างความเดือดร้อนเช่นในแง่มุมผลลบที่นำเสนอข้างต้น .