วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาช่วยพัฒนาชาติในเรื่องของคนชนบทอย่างไร ?


การศึกษาคือทางออกของยุคสมัยที่คนไม่รู้และต้องการแสวงหาความรู้และความจริงที่เป็นไปในลักษณะของความรู้แห่งชีวิตหรือการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิต  ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่ส่งผลต่อการพัฒนาคน พัฒนาความคิด พัฒนาประเทศ  โดยการพัฒนาที่เกิดจากผลพวงของการศึกษาก็ปรากฏทั้งรูปธรรมเช่นความเจริญทางวัตถุและนามธรรมหรือระบบความคิด ค่านิยม เนื่องจากการศึกษามีหน้าที่ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ และเชิงอนุรักษ์ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยที่ต้องอาศัยการมองย้อนอดีตและเดินสู่อนาคตอย่างสมดุล จึงจะเป็นการพัฒนาที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
คนชนบท ความเป็นชนบท คือ กลุ่มประชากรซึ่งมีความเป็นอยู่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม และวิถีชีวิตเป็นไปตามจารีต ขนบประเพณี ยึดมั่นในความดีงาม และกระบวนทัศน์แบบองค์รวมคือวิธีการมองโลก มองชีวิต ทำให้คนชนบทและความเป็นชนบท ำเนินชีวิต แปลกแยกจากประชากรส่วนน้อยแต่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับประเทศซึ่งอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งการพัฒนาตามอย่างตะวันตกและทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับอเมริกันสแตนดาร์ด  อีกทั้งความทันสมัยในเมืองใหญ่ได้อ้าแขนกวาดต้อนผู้คนจากชนบทให้อพยพเข้าสู่เมืองหลวง อีกทั้งความเป็นคนชนบท ก็ง่ายต่อการยัดเยียดระบบบริโภคนิยมที่แทนค่าความสุข ด้วยเงินตรา  ซึ่งต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด เกิดจากความไม่รู้ เนื่องด้วยการศึกษาที่ขาดความเท่าเทียม  และถูกกีดกันจากสังคมหลักให้กลายเป็นอีกชนชั้นที่เป็นผู้ถูกกระทำในทุกด้าน
ข้าพเจ้าต้องการกล่าวถึงอีกแง่มุมของการพัฒนาที่เกิดจากการศึกษา เนื่องจากผลดีของการพัฒนานั้น ประเทศนี้ได้กล่าวถึงมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ ถือกำเนิดขึ้น แต่แท้จริงภายใต้ภาพความเจริญที่ถูกสร้างให้เป็นนั้นกลับทำให้รากแห่งอารยะบางอย่างของสังคมไทยค่อยๆจางหายไปเช่นปรากฏในปัจจุบัน จริงอยู่ที่การศึกษานำมาซึ่งความเจริญ รวมทั้งวิทยาการต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากผลพวงของการศึกษา ที่ย่นย่อโลกให้มีขนาดเสมือนเล็กลง และง่ายต่อการติดต่อสื่อสาร ทำให้เทคโนโลยีในอีกซีกโลกสามารถก้าวข้ามระยะห่างและมาเป็นสิ่งใหม่ๆในอีกซีกโลกหนึ่งได้โดยไม่ยากนัก  ความเจริญจากเมืองสู่ชนบท จากตะวันตกสู่ตะวันออก คือประเด็นแรกที่เกิดจากการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น การทำเกษตรกรรมในชนบท ในอดีตนั้นเกษตรกรดำเนินวิถีโดยรอยทางแห่งบุพกาล ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง แต่หลังจากที่การศึกษาเข้ามาพร้อมกับวิทยาการที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำเกษตรกรรม ชาวชนบทก็เริ่มยอมรับวิทยาการดังกล่าว  ซึ่งเป็นผลดีในแง่ของความทันสมัย ทุ่นแรง ทุ่นเวลา แต่นัยจริงแล้วข้าพเจ้าไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการมาถึงของนานานวัตกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งเหมาะควรหรือผิดพลาดต่ออดีตอันทรงคุณค่าหรือไม่  โดยผลเสียที่เกิดจากวิทยาการปรากฏอย่างชัดเจนในสังคมเกษตรกรรมทุนนิยมปัจจุบัน คือ การแห่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ต้องอาศัยยาฆ่าแมลงนานาชนิด สร้างหนี้ซ้ำซ้อน ผ่อนหนี้ กู้หนี้ เพื่อสร้างไร่เรือกสวน ผลผลิตที่ได้ก็ขายเพื่อใช้หนี้ ไม่เหลือเงินทุนจะลงต่อในปีถัดไป จึงต้องกู้ยืม เป็นวัฎจักรไม่มีที่สิ้นสุด รายได้ต่ำกว่าระดับมวลรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ สุขภาพจิตเสีย ครอบครัวเกิดปัญหา คุณภาพชีวิตย่ำแย่  - เหล่านี้คืออีกด้านที่เป็นผลกระทบของการพัฒนา
ทว่าความคาดหวังที่เกิดจากการพัฒนาโดยการศึกษา คือ มิติทางสังคม การเมืองการปกครอง ทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และมิติอื่นๆ ที่เป็นความทันสมัย แต่มิใช่การพัฒนาและตามมาด้วยคำถามที่ว่าแท้จริงการพัฒนาคือการต่อต้านการพัฒนาหรือไม่ ? แต่หากกำหนดเรียกความทันสมัยและเจริญด้วยวิทยาการต่างๆว่าการพัฒนา - ย่อมกล่าวได้ว่าชนบทไทยกำลังพัฒนาและหรือ/อาจจะพัฒนาแล้ว
การศึกษานำมาซึ่งความรู้เท่าทัน ข้าพเจ้ามองว่าการรู้เท่าทันเป็นวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญที่ควรเกิดขึ้นกับปลายทางของการศึกษา  คนชนบทควรได้รับการศึกษาในรูปแบบโยนิโสมมนสิการ  คือ  เน้นการคิดวิเคราะห์ แยกแยก สังเคราะห์ ประเมินค่า มิใช่เป็นการรับข้อมูลเพียงถ่ายเดียวซึ่งก่อให้เกิดการยัดเยียดทางความคิด เช่น กรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดงในปัจจุบัน ชาวชนบทแทบทั้งสิ้นที่ถูกอำนาจความคิดบางอย่างฝังหัวว่าไปสิ ไป เรียกร้องประชาธิปไตยของตนคืนมา ทั้งที่ในความเป็นจริง ชาวชนบทเหล่านั้นไม่อาจบอกได้ว่า อะไรคือประชาธิปไตย ประชาธิปไตยของเสื้อแดงที่ปรากฏคือการที่อดีตนายกทักษิณได้กลับคืนสู่ผืนดินแม่ แต่ในความเป็นจริงประชาธิปไตยมีความหมายและพลังในคำมากกว่านั้น มากกว่าที่จะต้องรองรับใครเพียงคนเดียว แต่เป็นอำนาจรวมของคนทั้งชาติที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันและรู้จักคิด วิเคราะห์ ประเมินค่าในสิ่งที่ถูกต้องด้วยวิจารณญาณของความเป็นมนุษย์คิดเป็นและข้อมูลที่อิงแนบด้วยกฎหมายและสามัญสำนึก มิใช่การกรอกหูให้เชื่อและก็เชื่อ - ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นความล้มเหลวทางการศึกษาในมิติทางด้านสังคมและการเมือง  ในทางกลับกัน หากการศึกษาสามารถนำมาซึ่งความรู้เท่าทันได้นั้น ผู้คนในชนบทก็จะมีแนวคิดที่เกิดจากการสร้างองค์ความรู้ของตนเอง และพิจารณาจากบริบทแวดล้อม ความถูกต้องต่างๆ และก็จะไม่เป็นไปตามบางคำกล่าวที่ว่า โง่ จน เจ็บ อีกต่อไป
การพัฒนาที่เกิดจากการศึกษาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนชนบทหากมองในแง่เศรษฐกิจก็เสมือนเป็นผลดี แต่ถ้าหากมองในเรื่องคุณภาพชีวิต ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเรากำลังเดินสู่หุบเหวอันไร้ก้นหรือไม่ ?
ดังนั้นในทัศนะของข้าพเจ้ามองการพัฒนาชนบท เป็นประเด็นของการนำการศึกษามาเป็นเครื่องมือปลุกให้คนชนบทให้ตื่นฟื้นจากความหลงในวาทกรรมแห่งการพัฒนาจากคนเมือง โดยการพัฒนาควรเน้นที่ความต้องการขั้นพื้นฐาน และกระจายรายได้ที่ควบคู่ไปกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่สามารถรองรับความต้องการตามความจำเป็น ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับการพัฒนาในยุคปัจจุบัน
ในปลีกย่อยอื่นๆของวิถีชีวิตชนบทที่เกิดจากการพัฒนา โดยรูปแบบภายนอกก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการเป็นคนเมือง เลือกที่จะบริโภคและอุปโภคเช่นคนเมือง เข้าห้างสรรพสินค้าแทนที่จะทำความรู้จักผักหญ้าหลังบ้าน และแปรรูปเป็นอาหารสดด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ภาพลักษณ์ของชาวชนบทดูมีระดับความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น แต่เช่นกันที่ความสะดวกสบายเหล่านี้ทำให้คุณค่าแท้ที่เกิดจากความผูกพันของคน ของธรรมชาติลดน้อยลง แทนค่าความสุขด้วยสัญญะแห่งการบริโภคที่โฆษณากระพือโหมและยัดเยียดให้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น ความกตัญญูถูกแทนด้วยนมตราหมีหรือแบรนด์ซุปไก่,รังนก และความสนุกสนาน มิตรภาพ แทนด้วยบรั่นดี ส่วนความมั่งคั่งแทนด้วยบ้านเครือพร็อพเพอร์ตี้โฮม รสนิยมสูงมาพร้อมกับผ้าพันคอเฮอร์เมส  ฯลฯ อาจไม่เหมือนหรือคล้ายในรายละเอียดแบรนด์เนม แต่โดยวิธีคิด อาจใช่ - หรือนี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนชนบทซึ่งมีอิทธิพลมาจากการพัฒนาอีกทางหนึ่ง ?
ท้ายที่สุดแล้ว ชนบทหลงเหลือสิ่งใดที่เกิดจากการพัฒนาเนื่องด้วยผลพวงจากการศึกษา นอกจากอาคารบ้านเรือนก่ออิฐถือปูน พฤติกรรมการบริโภคนิยม แนวคิดที่แทนค่าเงินเป็นความสำเร็จ ดังนั้น, เรา-องค์ประกอหนึ่งของชนบทและเสี้ยวความเป็นเมืองจำต้องมีภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันการพัฒนา เพื่อก้าวพร้อมและ - ทำความเข้าใจอดีตให้เป็นคุณค่าชีวิตที่เกิดจากการพัฒนาอย่างมีเหตุผล และพอประมาณ จึงจะไม่สร้างความเดือดร้อนเช่นในแง่มุมผลลบที่นำเสนอข้างต้น .

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตอนที่ 2

                ตอนที่แล้ว ครูถามนักเรียนไปถึงพฤติกรรมในการเรียนของแต่ละคน
ได้คำตอบเป็นอย่างไรกันบ้างคะ ? จัดหมวดหมู่ให้ตัวเองอย่างไร พอใจหรือไม่
และมีข้อควรปรับปรุงส่วนไหนบ้างที่จะทำให้การเรียนของเราดีขึ้น ?
                มาวันนี้ เราจะคุยกันเรื่องที่ว่าการจะเรียนเก่งอย่างมีความสุข หรือ
การเรียนเหมือนเล่นๆ หรือเล่นปนเรียนนั้น ควรจะมีวิธีการที่เหมาะสมอย่างไร
เรียนแค่ไหน เล่นแค่ไหน จึงจะไปได้ดีทั้งสองอย่างค่ะ
                สมัยเรียนมัธยมฯ ช่วงก่อนจะสอบแอดมิสชัน (Admission'49)
ครูเชื่อว่าทุกคนคงจะเคยเป็นเหมือนกัน นั่นคือ อาการลนลานว่าจะอ่านหนังสือไม่ทัน
ก็ตั้งกี่วิชาล่ะคะที่ต้องอ่าน ไทย อังกฤษ สังคม ฝรั่งเศส วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
ดูเหมือนเล็กน้อย แต่พอเอาเข้าจริงก็เหนื่อยใช่เล่น เรียนพิเศษเลิกดึก การบ้าน
การโรงเรียน กีฬาสี งานชมรม ฯลฯ นี่แค่เฉพาะงานที่เป็นสาระนะคะ
แล้วสารพัดภารกิจที่ไม่เป็นสาระอีกล่ะ เป็นต้นว่า ดูหนัง เที่ยวกับเพื่อน ติดเฟส ออนเอ็ม
กินน้ำชามื้อดึก (วัยรุ่นหาดใหญ่ นิยมนั่งร้านน้ำชากลางคืน)
สิ่งเหล่านี้กินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปมากทีเดียวค่ะ
เพื่อนที่ติดธรรมศาสตร์ (ศิลปศาสตร์,นิติ,สังคมฯ) หรือ จุฬาฯ (อักษรฯ,นิติฯ,ครุฯ) หรือ
ศิลปากร (โบราณ,อักษร,ศึกษา,จิตรกรรม) สงขลานครินทร์ (ศิลปศาสตร์,นิติ,วิทยาการจัดการ)
ก็ล้วนแต่มีวิถีชีวิตไม่ต่างกับที่ครูเป็น

แต่ครูและเพื่อนก็เรียนๆเล่นๆ จนกระทั่งแอดมิสชั่นติด แม้จะไม่ใช่ความสำเร็จขั้นสูงสุดของชีวิต
แต่ก็เป็นหลักประกันหนึ่งที่บอกครูได้ว่า เราจะเรียนให้ได้ดีนั้น
ไม่จำเป็นต้องหน้าดำคร่ำเครียดตลอดเวลา ทำทุกอย่างอย่างพอดี
เพราะชีวิตมีอะไรมากกว่านั้นจ้ะ


                อย่างแรกเลยค่ะต้องรู้จักวางแผนค่ะ วางแผนยังไงในทีนี้หมายถึง
การกำหนดเป้าหมายว่าที่เราไปเรียนอยู่ทุกวันนี้ เพื่ออะไร เราต้องการอะไร
อยากให้มีอะไรงอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลจากความอุตสาหะบ้าง
และสิ่งใดที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจได้ โดยแผนนี้ทั่วไปจะมี 3 ระดับคือ
แผนระยะสั้น , แผนระยะกลางและแผนระยะยาวค่ะ ความละเอียดของแผนแต่ละระยะเวลาก็จะต่างกัน
เช่นแผนระยะสั้น ย่อมจะเป็นเรื่องของวันนี้พรุ่งนี้และสัปดาห์นี้
แผนระยะกลางเป็นการกำหนดอนาคตในอีกเดือนสองเดือนหรือหนึ่งภาคเรียนข้างหน้า

ในขณะที่แผนระยะยาวจะเป็นเรื่องของอนาคตพอๆกันกับคำถามที่ว่า โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร นั่นล่ะค่ะ

โดยแผนจะต้องกำหนดช่วงเวลาลงไปให้ชัดเจนเลยค่ะว่า วันไหน เดือนไหน ปีไหน ทำอะไร ยกตัวอย่างให้เห็นชัด เช่น

                แผนระยะสั้น : ทำการบ้านหน้าสิบห้าวิชาสังคม, เขียนเรียงความ, อ่านวิชาอักษรอีสาน , ทำการบ้านหน้า 29 (1-7 พฤศจิกายน)
                แผนระยะกลาง : อ่านหนังสือสอบเอนท์ , สอบปลายภาค , Toefl (ธันวา 53-กุมภา 54)
                แผนระยะยาว : ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแอร์โฮสเตส , ทุนสังคมวิทยา (2554-2556)



                ต่อมาการจะเรียนให้ได้ดีและมีความสุขนั้น ต้องรู้จักการแบ่งเวลาค่ะ การจัดการเวลาที่ดีทำให้เรารู้ว่าสิ่งใดจำเป็น มากน้อยเพียงใด สิ่งใดควรทำก่อนทำหลัง กระจายให้แต่ละภารกิจมีน้ำหนักที่เหมาะสมกันในแต่ละช่วงเวลา เช่น วันนึงมี 24 ชม. ไปโรงเรียนใช้เวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กชมรมแบบครู อาจกินเวลาถึง 12 ชั่วโมง ) เรียนพิเศษ 2-3 ชั่วโมง ทำการบ้าน 2 ชั่วโมง
(บวกเวลาเล่นเน็ตไปด้วย) ทบทวนสิ่งที่เรียนไป 1-2 ชั่วโมง อ่านหนังสือเตรียมสอบระยะยาว 2-4 ชั่วโมง ที่เหลือก็เป็นเวลาพักผ่อน
                 ส่วนวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็พักผ่อนไปเถอะค่ะ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือที่ชอบ ซักผ้า ออกต่างจังหวัด อะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข นัยว่าเป็นการเติมพลังให้ในอีกทั้งสัปดาห์

แต่ในช่วงหลังเที่ยงวันอาทิตย์ เราควรจะทำสมาธิถึงสิ่งที่จะต้องทำในเช้าวันจันทร์ และอ่านหนังสือทบทวนภาพรวมที่เรียนไปของสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งเปิดผ่านๆสำหรับสิ่งที่จะเรียนในสัปดาห์ที่จะถึงด้วยค่ะ


            สามคือ ลงมือทำ ค่ะ เป็นขั้นตอนสั้นๆที่สำคัญที่สุดเลยนะคะ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง และให้เชื่อไว้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรหรอกค่ะที่คนเราจะทำไม่ได้
หากเราคิด เชื่อมั่น ตั้งใจและ "ลงมือทำ" ค่ะ


เพียงเท่านี้,ชีวิตการเรียนของเราก็จะดูมี "อะไรๆ" มากขึ้น ไม่ใช่เด็กเรียนแว่นหนาเตอะ แล้วก็ไม่ใช่แว๊นจนไม่ลืมหูลืมตานะจ๊ะ :-)

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เรียนอย่างไรให้ได้ผลดี ? เล่นอย่างไรให้พอดี ? (ตอนที่ 1)

อันดับแรกลองตอบคำถามกันก่อนว่า "เรียนเก่ง" "เรียนได้" และ "เรียนดี"
เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ระหว่างพฤติกรรมสามอย่างนี้ คิดว่าสิ่งใดสำคัญที่สุด ?

จำเป็นหรือไม่ที่คนเรียนเก่ง จะต้องหน้าตาเคร่งเครียด บุคลิกเนิร์ด (Nerd) หมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองสนใจ
จนลืมนึกถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือคนที่บุคลิกภายนอกสบายๆ ดูเหมือนไม่ตั้งใจเรียน เป็นต้นว่า เดินเหยียบส้นรองเท้า กระเป๋าลีบ จะเป็นคนที่มีผลการเรียนดีได้หรือไม่ ? แล้วคนที่ดูเฉยๆ ไม่ได้เด่นดังอะไร การเรียนก็เรื่อยๆ การบ้านมีส่งล่ะ ?


นักเรียนมีบุคลิกอย่างไร , ลองประเมินตนเอง ..
เล่าให้ครูฟังคร่าวๆนะคะว่า ตัวเองเป็นเด็กแบบไหน เรียนเก่ง เรียนได้ หรือเรียนดี
แล้วทุกวันนี้ นักเรียนตื่นเช้ามาโรงเรียนด้วยความรู้สึกแบบไหน เบื่อ จำเจ เต็มใจ กระตือรือร้น ?
เป็นอย่างไร เขียนมาแลกเปลี่นกันนะคะ